ประเด็นร้อน

ประมูลซุ้มขายของโอท็อป ราคา 8 แสน?

โดย ACT โพสเมื่อ May 31,2017

 คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน: ประมูลซุ้มขายของโอท็อป ราคา 8 แสน?


- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 - -

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
          
ต่อตระกูล : ในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา มีประเด็นข่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักข่าว อิศรา ให้ช่วยติดตาม ตรวจสอบราคากลางของซุ้มขายของโอท็อปราคาถึง 8 แสนบาท ที่มีชื่อทางการว่า "ร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop" ที่จะใช้เป็นที่ขายสินค้าโอท็อปของท้องถิ่นและจะใช้เป็นตู้ประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปพร้อมกันด้วยนั้น
          
ผมศึกษาดูเบื้องต้น พบว่ามี 2 ประเด็น ที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ ประการแรกคือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมีการแข่งขัน ราคากันอย่างยุติธรรม หรือมีการสมยอมราคากันที่เรียกว่ามีการ "ฮั้ว" กันหรือไม่ ประการที่สองคือ เรื่อง ราคากลาง 8 แสนบาท นั้น เป็นการประมาณราคากลางที่ถูกต้องตามมาตรฐานวิธีการคิดราคากลางตามระเบียบหรือไม่
          
มาดูประเด็นแรกก่อน การฮั้วเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีศัพท์ภาษาอังกฤษ ว่า "collusion" ที่ผู้เข้าเสนอราคาสมยอมกัน ไม่แข่งขันกันจริงในการเสนอราคา สำหรับผม และหลายคนในวงการก่อสร้างมีแนวคิดเหมือนกันว่า หากการคิดราคากลางมีความ ยุติธรรม ทำให้ราคากลางเที่ยงตรง ใกล้เคียง กับความเป็นจริงแล้ว ต่อให้มีการฮั้วกัน ผู้ที่ชนะราคาหรือผู้ที่จัดตั้งกันมาให้ได้งานไป ก็ไม่สามารถมีกำไรส่วนเกินมากมายเป็นหนึ่งเท่าสองเท่าตัวได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในบางโครงการ
          
เรื่องการทำราคากลางให้เที่ยงตรงนี้ รองนายกฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถึงกับเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ด้วยตัวเอง ขอให้ ช่วยกันคิดหาวิธีทำราคากลางที่ใกล้เคียงความ เป็นจริงให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างกรณีราคา ซุ้มประชารัฐ 800,000 บาทนี้ เมื่อเห็นราคาเบื้องต้น ทุกคนแม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการ ก่อสร้าง แรกๆก็รู้สึกคล้ายกันทั้งสิ้นว่า ราคานี้ สูงมากๆ สูงถึงสามารถซื้อบ้านเอื้ออาทร 2 ชั้น ได้สองหลังเลย ซึ่งในบทความนี้จะขอนำไปพูดถึงอย่างละเอียดนะครับ
          
ต่อภัสสร์ : ผมตามข่าวนี้ ทราบว่า ผู้ว่าฯ ททท.ชี้แจงแล้วว่า ด้วยเวลาที่จำกัด และ ครม.ก็เร่งรัดให้จัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 2 เดือน ททท.จึงต้องดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้าง ก่อสร้างโครงการด้วยวิธีพิเศษ ตามข้อบังคับ ททท.โดยสามารถเชิญผู้ประกอบการมาเสนอราคาและต่อรองได้เลย และสามารถจัดจ้างได้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ได้มา จากซุ้มละ 994,000 บาท ลดลงเหลือ 826,532.27 บาท
          
วิธีพิเศษนี้เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ตาม ระเบียบไม่ต้องให้มีการแข่งขันราคา การที่ ททท. เลือกใช้วิธีนี้ถูกต้องแล้วหรือครับ
          
ต่อตระกูล : ถ้าได้รับอนุมัติให้จัดหาตามวิธีพิเศษได้ อย่างกรณีนี้ ก็มีสิทธิทำได้ตาม ระเบียบ แต่โดยปกติข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจจะไม่ค่อยอยากใช้วิธีพิเศษนี้กันมากนัก เพราะจะทำให้เป็นที่เพ่งเล็งและถูกตรวจสอบ ไต่สวนกันเป็นประจำ และในเมื่อ วิธีพิเศษนี้ไม่ต้องมีการแข่งขันราคากันหลายราย ก็ได้ ยิ่งทำให้การทำราคากลางให้เที่ยงตรงนั้นสำคัญมาก เพื่อที่ให้รัฐจะได้ประโยชน์สูงสุดและเอกชนที่ได้งานไปจะไม่ได้รับค่าตอบแทนมากเกินกว่าที่จะได้รับในการทำธุรกิจอย่างปกติทั่วไป
          
ต่อภัสสร์ : ความจริง โครงการนี้ ถ้าเร่งรัดในช่วงการออกแบบและตกลง รายละเอียดให้เสร็จสิ้นได้เร็ว ไม่ล่าช้ากันมาจนกระทั่งเหลือเวลาน้อยมากจนต้องมาใช้วิธี พิเศษแบบนี้ ก็น่าจะดีกว่านะครับ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ททท. ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้ว และแจ้งว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามา ตรวจสอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 แล้วก็ไม่ได้ติดใจสงสัยอะไรในขั้นตอนการจัดจ้าง
          
ดังนั้นจึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญประเด็นที่สองคือ ความสมเหตุสมผลของราคากลาง เท่าที่ดูตัวเลขจากตารางการคำนวณราคากลาง มีส่วนไหนที่ผิดปกติบ้างไหมครับ ?
ต่อตระกูล : ดูตัวเลข 800,000 บาท ในครั้งแรกก็ตกใจมาก เพราะราคาสร้างร้านค้าชั้นเดียวขนาดกว้าง 4 เมตร ลึก 3.5 เมตร ได้พื้นที่ใช้สอยรวม 14 ตารางเมตร เท่านั้นมีราคาแพงตกตารางเมตรละ 57,000 บาทเทียบกับค่าก่อสร้างอาคารห้างสรรพสินค้าสูง 3 ชั้น ที่มีราคาเพียงประมาณ 20,000 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น หรือเทียบกับราคา ตู้คอนเทนเนอร์สำเร็จรูปขนาดใหญ่กว่า คือขนาด 3 เมตรยาว 6 เมตร เนื้อที่ใช้สอย 18 ตารางเมตร ติดตั้งพร้อมไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ที่มีราคาเพียง 150,000 บาทเท่านั้น จะเห็นได้ว่าซุ้มนี้มีราคาแพงมากอย่างน่าตกใจ
          
แต่เมื่อได้เห็นตัวเลขรายละเอียดที่ ททท. เผยแพร่ต่อสาธารณะ จึงได้พบว่า ราคา 8 แสนกว่าบาทนั้น ไม่ใช่ราคาค่าก่อสร้างอย่างเดียว แต่ได้รวมราคาค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 2 ชุด และจอทีวียักษ์ขนาด 55 นิ้ว เป็นเงินอีก 245,000 บาท เข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาสร้างร้านค้าชั้นเดียวขนาดกว้าง 4 เมตร ลึก 3.5 เมตร ในราคาที่หักอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ออกไปแล้ว ก็ยังเหลือเป็นค่าก่อสร้างถึง 560,000 บาท คิดเป็นราคา 40,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งก็ยังนับว่าแพงเกินร้านค้าปกติหลายเท่าอยู่ดี
          
เมื่อเจาะลึกดูแต่ละรายการ พบมี 3 รายการ ที่แพงเป็นพิเศษ รายการแรกคืองานประตู 63,000 บาท ซึ่งตามแบบ ต้องเปิดกว้างเต็มด้านหน้าร้านและต้องแข็งแรงปิดล็อกได้สนิท ป้องกันไม่ให้คนเข้าไปขโมยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ราคากว่า 200,000 บาท ในตอนกลางคืน รายการที่ 2 คือ งานผนังภายนอก และภายในที่ใช้วัสดุราคาแพง ไม่ใช่ผนังก่ออิฐ ปกติ ตามแบบเป็นผิวอลูมิเนียมคอมโพสิท ราคารวม 131,000 บาท ซึ่งหากเลือกใช้ผนังอื่นๆ ที่น้ำหนักเบา แต่อาจไม่หรูหราเท่า ราคาคงไม่เกิน 50,000 บาท และรายการที่ 3 คือระบบไฟฟ้าภายในและนอกเป็นเงินถึง 92,000 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาจากขนาดงานแล้ว โดยปกติอย่างมากไม่ควรเกิน 30,000 บาท นี่แสดงว่าในแบบต้องเดินระบบไฟอย่างพิเศษมาก
          
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ สตง. ไม่สามารถบอกได้ว่ามีการคิดราคากลางผิดพลาดหรือมีการโก่งราคาเกินจริงหรือไม่ เพราะสาเหตุคือ ทุกรายการที่แพงกว่าปกติ ทั่วไปนั่น เป็นไปตามข้อกำหนดความต้องการ พิเศษของกรรมการหลายฝ่าย
          
ต่อภัสสร์ : ตกลงราคากลางแพงเพราะแบบและข้อกำหนดของผู้ออกแบบที่ใช้ของคุณภาพสูงมาก แล้วแบบนี้ต่อไปจะทำ อย่างไร ที่จะชี้ว่าแค่ไหนถึงเป็นเป็นการกำหนดรูปลักษณะแบบที่เหมาะสมล่ะครับ
          
ต่อตระกูล : ขั้นแรกอยู่ที่การตั้งงบประมาณ สำนักงบประมาณต้องรวบรวมข้อมูลราคาค่าก่อสร้างทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน มากพอที่จะกำหนดวงเงินให้หน่วยงาน นำไปใช้ควบคุมความต้องการให้อยู่ในงบ ให้ได้ ในเรื่องนี้ คตช. ได้ขอให้วิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยกำหนดมาตรฐาน Cost Code  เพื่อเก็บรวมรวมราคาค่าก่อสร้างไว้เป็นหมวดหมู่ โดยละเอียดและเป็นระบบที่ค้นหาได้ง่าย ต่อไป หน่วยราชการไหนจะสร้างอะไรไว้ที่ไหน ในราคาเท่าใด ทั้งประเทศก็จะรับรู้เท่าทัน การวิเคราะห์ราคากลางของโครงการต่างๆ ก็จะทำได้ง่ายกว่าปัจจุบันมาก เพราะลำพังการใช้ราคาวัสดุกลางของกระทรวงพาณิชย์นั้นมีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะนำมาใช้ในการตรวจวิเคราะห์ราคา "ร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop" นี้ได้ว่าราคามาตรฐานเป็นควรเป็นเท่าไหร่กันแน่
          
ทั้งนี้ ทีมข่าวอิศราและผมได้รับประโยชน์อย่างมากจากมาตรการ 103/7 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ที่กำหนดให้เปิดเผยรายละเอียดวิธีการคำนวณราคากลาง และให้ประกาศชื่อคนคิดราคากลางไว้ ในเนตด้วย ทำให้สังคมสามารถเป็นหูเป็นตาช่วยกันตรวจสอบราคากลางและ รูปแบบว่าเหมาะสมหรือไม่กันอย่างโปร่งใส ต่อไปผู้ออกแบบและคิดราคากลางจะต้องระมัดระวังการทำงานให้มากขึ้น
          
กรณีจัดสร้าง "ร้านค้าประชารัฐ สุขใจ Shop " ภายใต้โครงการพัฒนาสถานีริมทางเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การท่องเที่ยวและจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ที่ใช้ขายสินค้าโอท็อปของ ททท. จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศนี้ ถือได้ว่าเป็นโครงการ ที่มีจุดประสงค์ที่ดี มีประโยชน์ต่อประชาชน ที่ผ่านมาสามารถขายสินค้าโอท็อปได้เฉลี่ยถึง 40,000 บาทต่อร้านในแต่ละเดือน แต่กระบวนการตั้งงบประมาณและการทำราคากลางนั้น ยังมีปัญหาที่ต้องปรับปรุงอีกมาก!